https://www.banggood.com/50X-LED-Illumination-Pen-Style-Pocket-Microscope-Magnifying-Glass-with-Reading-Scales-p-1137785.html?p=8Z020971524652016114

How to do a basic meditation - หลักการทำสมาธิเบื้องต้น

Meditation - A basic meditation - สมาธิ - หลักการทำสมาธิเบื้องต้น - 基本的冥想 - Une méditation de base - Основная медитация - Una meditazione di base -




ได้พบหนังสือ "หลักการทำสมาธิเบื้องต้น" ที่บ้านคุณพ่อ-คุณแม่ลองเปิดอ่านดูพบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับ "หลักการทำสมาธิเบื้องต้น" และ "หลักปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน" อ่านง่ายมากจึงขออนุญาตคัดส่วนที่อ่านแล้วประทับใจช่วยให้เข้าใจวัตถุประสงค์และหลักการทำสมาธิเพื่อบันทึกเก็บไว้เตือนความจำดังนี้ครับ

หมายเหตุใน post นี้จะคัดลอกเฉพาะบางส่วนโดยไม่มีการดัดแปลงของ "หลักการทำสมาธิเบื้องต้น"


"สมาธินั้นมิใช่เป็นข้อปฏิบัติในทางศาสนาเท่านั้น แต่เป็นข้อที่พึงปฏิบัติในทางทั่วๆ ไปด้วย เพราะสมาธิเป็นข้อจำเป็นจะต้องมีในการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการดำเนินชีวิตทั่วไปหรือทางด้านปฏิบัติธรรม" ...

"สมาธินั้น ได้แก่ความตั้งใจมั่นอยู่ในเรื่องที่ต้องการให้ใจตั้งไว้เพียงเรื่องเดียว ไม่ให้ใจคิดฟุ้งซ่านออกไปนอกจากเรื่องที่ต้องการจะให้ตั้งใจนั้น"....

"ในความตั้งใจดังกล่าวนี้ก็จะต้องมีอาการของกายและใจประกอบกัน เช่นว่าในการอ่าน ร่างกายก็ต้องพร้อมที่จะอ่าน เช่นว่าเปิดหนังสือ ตาก็ต้องดูหนังสือ ใจก็ต้องอ่านด้วย ไม่ใช่ว่าตาอ่านแล้วใจไม่อ่าน"

"ในการหัดทำสมาธินั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ อย่างหนึ่งหัดทำสมาธิเพื่อแก้อารมณ์และกิเลสของใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างหนึ่งก็เพื่อฝึกใจให้มีพลังของสมาธิมากขึ้น"...

"จะได้ให้วิธีทำสมาธิย่อๆ ข้อหนึ่ง ก็คือว่า ท่านสอนให้เลือกสถานที่ทำสมาธิที่สงบจากเสียงและจากบุคคลรบกวนทั้งหลาย เช่น ในป่า โคนไม้ เรือนว่าง มุ่งหมายก็คือว่า ที่ที่มีความสงบพอสมควรที่จะพึงได้และเข้าไปสู่สถานที่นั้น

นั่งขัดบัลลังก์หรือที่เรียกว่าขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือชนกัน หรือว่ามือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวตรงหรือว่าจะนั่งพับเพียบก็ได้ สุดแต่ความพอใจหรือตามที่จะมีความผาสุก

ดำรงสติจำเพาะหน้า คือหมายความว่า รวมสติเข้ามา

กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หากจะถามว่ารู้ที่ไหน ก็คงจะตอบได้ว่า จุดที่รู้ง่ายนั้นก็คือว่าปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนอันเป็นที่ลมกระทบ เมื่อหายใจเข้า ลมหายใจเข้าก็จะมากระทบที่จุดนี้ ในขณะเดียวกันท้องก็จะพองขึ้น ลมหายใจออก ออกที่จุดนี้ ในขณะเดียวกันท้องก็จะฟุบลงหรือว่ายุบลงไป เพราะฉะนั้น ก็ทำความรู้ลมหายใจเข้าจากปลายกระพุ้งจมูกเข้าไปถึงนาภีที่พอง หายใจออกก็จากนาภีที่ยุบถึงปลายกระพุ้งจมูกก็ได้ ก็ลองทำความรู้ในการหายใจเข้า หายใจออกดู ดังนี้ก่อน หายใจเข้าก็จากปลายกระพุ้งจมูกเข้าไปถึงนาภีที่พอง ออกก็จากนาภีที่ยุบจนถึงปลายจมูก นี่ท่านเรียกว่าเป็นทางเดินของลมในการกำหนดทำสมาธิ

คราวนี้ก็ไม่ต้องดูเข้าไปจนถึงนาภีดั่งนั้น แต่ว่ากำหนดอยู่เฉพาะที่ปลายจมูกแห่งเดียว หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าเราหายใจออก รวมใจเข้ามาให้รู้ดั่งนี้ และในการตั้งสติกำหนดนี้ จะใช้นับช่วยด้วยก็ได้ หายใจเข้า ๑ หายใจออก ๑ หายใจเข้า ๒ หายใจออก๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ ๗-๗ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ ๗-๗ ๘-๘ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ ๗-๗ ๘-๘ ๙-๙ แล้วก็กลับ ๑-๑ ๒-๒ ๓-๓ ๔-๔ ๕-๕ ๖-๖ ๗-๗ ๘-๘ ๙-๙ ๑๐-๑๐ แล้วก็กลับ ๑-๑ ถึง ๕-๕ ใหม่ ๑-๑ ถึง ๖-๖ ใหม่ ดังนี้หลายๆ หน จนจิตรวมเข้ามาได้ดีพอควร ก็ไม่ต้องนับคู่ แต่ว่านับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕, ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ เป็นต้นไป เมื่อจิตรวมเข้ามาดีแล้วก็เลิกนับ ทำความกำหนดรู้อยู่ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปาก เบื้องบนเท่านั้น

วิธีนับดั่งนี้เป็นวิธีนับที่พระอาจารย์ท่านสอนมาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ว่าจะใช้วิธีอื่นก็ได้ เช่น นับ ๑-๑ จึงถึง ๑๐ ทีเดียว แล้วก็กลับใหม่ หรือว่าจะเลย ๑๐-๑๐ ไปก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าที่ท่านสอนไว้แค่ ๑๐-๑๐ นั้นท่านแสดงว่าถ้ามากเกินไปแล้วจะต้องเพิ่มภาระในการนับมาก จะต้องแบ่งใจไปในเรื่องการนับมากเกินไป

ฉะนั้น จึงให้นับอยู่ในวงที่ไม่ต้องใช้ภาระในการนับมากเกินไป

อีกอย่างหนึ่ง พระอาจารย์ท่านสอนให้กำหนดหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ พุทโธ พุทโธ หรือธัมโม ธัมโม หรือว่า สังโฆ สังโฆ ก็ได้ เมื่อใจสงบดีแล้วก็เลิกกำหนดอย่างนั้น ทำความรู้เข้ามาให้กำหนดอยู่แต่ลมที่มากระทบเท่านั้น ให้ทำดั่งนี้จนจิตรวมเข้ามาให้แน่วแน่ได้นานๆ นี่เป็นแบบฝึกหัดขั้นต้นที่ให้ในวันนี้ ท่านที่สนใจก็ขอให้นำไปปฏิบัติต่อไป

ที่มา:
คัดลอกบางส่วนของหน้า 1-12 จากหนังสือ หลักการทำสมาธิเบื้องต้น พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พิมพ์ครั้งที่ 2 มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2552

จัดพิมพ์น้อมถวายแด่ 
เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 
เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 96 พรรษา 
วันที่  3 ตุลาคม พ.ศ. 2552
โดย 
สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช 
วัดบวรนิเวศวิหาร
Previous
Next Post »