Trip พม่า 26,27,28 ก.ย. 2557 ย่างกุ้ง - คินปุน - พระธาตุอินทร์แขวน (ไจทีโย) - ชเวดากอง - ตลาดสก็อต
ออกเดินทาง 19.30 ของ 26 ก.ย. 2557 กลับ 21.00 ของ 28 ก.ย. 2557 สมาชิก 4 คน
ก่อนเริ่ม
ขอขอบคุณข้อมูลจากBlog และ Pantip ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาวางแผนทริปนี้มาก (แต่ไม่มีใครมีแผนเหมือนของเราแบบตรงเป๊ะ เลยต้องเอาข้อมูลของหลายๆ ท่านมาประยุกต์ และลิงค์ที่เข้าไปดูอยู่ด้านท้าย)
เริ่มเลยครับ ทริปนี้ ต้องการพาคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งอายุอยู่ในวัยหนุ่มน้อยสาวน้อยกันทั้งคู่(คุณพ่อ 69 และ คุณแม่ 67 ) ไปเที่ยวพักผ่อนครับ
โจทย์ เลยมีว่า ขอไปต่างประเทศ ในงบประมาณที่ไม่แพง ที่ที่พ่อและแม่ยังไม่เคยไป และการเดินทางไม่ลำบาก ไม่ต้อง เดินเยอะ ในที่สุดก็ลงตัวที่พม่าครับ (บังเอิญน้องสาวเคยไปกับทัวร์มาก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งปีจึงพอรู้ว่าเวลาสักการะพระธาตุฯ ต้องทำอย่างไร รวมทั้งที่เจดีย์ชเวดากองด้วย ส่วนเรื่องการเดินทาง ช่วยอะไรไม่ได้มากครับเพราะน้องเค้าไปกับทัวร์มีรถบัสอย่างดีบริการตลอดทาง)
เดิมทีจะซื้อทัวร์ของบริษัทเพื่อนน้องสาวครับ ซึ่งก็ให้ข้อมูลและบริการอย่างดี และราคาไม่แพง
(แพงกว่าที่ไปกันเองนี้นิดหน่อยแต่ของเค้าที่พักและอาหารดีกว่าพร้อมมีรถบริการและได้เที่ยวเยอะกว่า
แต่สุดท้ายไม่ได้เลือกของเพื่อนครับ เพราะวันเวลาไม่สะดวกกับผมและน้องสาว เลยตัดสินใจวางแผนเดินทางเองและจองตั๋วและทำวีซ่าเองหมดทุกอย่าง (ที่สำคัญจัดเองมันตื่นเต้นดีครับ)
สำหรับท่านที่ชอบดูในรูปแบบ VDO
ท่านใดเวลาน้อย อยากดูในรูปแบบ VDO สรุป ดูได้ตามลิงค์นี้เลยครับ VDO ละประมาณ 7 นาที
เล่าเรื่องให้ฟังเรื่อยๆ มีตัวหนังสือให้อ่านประกอบ
VDO 1 ย่างกุ้ง-คินปุน โดยรถไฟ www.youtube.com/watch?v=l_gjgSfSA3o
VDO2 คินปุน-อินทร์แขวน-คินปุน www.youtube.com/watch?v=T7dDXOMGj1w
VDO3 คินปุน-ย่างกุ้ง-ชเวดากอง-ตลาดสก็อต https://youtu.be/YL9nDaaXe-k
ข้อมูลสรุปสำหรับท่านที่มีเวลาน้อยและไม่ชอบอ่านเรื่องยาวๆ
ก่อนเข้าเรื่องรายละเอียดผมขอสรุปข้อมูลไว้ตรงนี้ก่อน เผื่อบางท่านไม่มีเวลาอ่านมาก
1.สิ่งที่ต้องทำก่อนไป
1.1 ทำวีซ่าที่สถานฑูตพม่า (อยู่ถนน สาธร) *มีข้อมูลล่าสุดว่า ครึ่งปีหลังของ 2558 คนไทยไม่ต้องขอวีซ่า เข้าพม่าแล้วครับ อยู่ได้นานสุดประมาณ 14 วัน ลองตรวจสอบข้อมูลดูก่อนนะครับ
1.2 จองตั๋วเครื่องบิน - ใช้ นกแอร์
1.3 จองที่พัก - ใช้บริการ Agoda
1.4 จองตั๋วรถไฟ - หาข้อมูลตารางรถไฟจาก www.seat61.com แล้วใช้บริการจองตั๋วของ http://www.go-myanmar.com/by-train *มีข้อมูลล่าสุดว่าปี 2558 พม่าจัดรถไฟตู้แอร์อย่างดีสำหรับนักท่องเที่ยวครับ
1.5 เตรียมแผนที่ในการเดินทาง เช่น เส้นทาง, ที่พัก - ใช้ Google map แล้ว print screen สถานที่จะไปเก็บไว้ใน แท็ปเล็ต
1.6 เตรียมเงิน - เงินบาท เอาแบงค์ยี่สิบไปหลายใบหน่อย สำหรับผู้ที่ชอบ ทิป และทำบุญ ครับ (ค่าใช้จ่ายอื่น เตรียม US และเงินไทยไปได้ ลงเครื่องแล้วแลก US เป็น Kyt ที่สนามบินก่อนเลยก็ได้ครับ)
2.ค่าใช้จ่าย
2.1 อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ไป 1 US = 980 Kyt (จ๊าด) / 1 USD = 33 บาท / 1 Kyt = 0.045 บาท *เงินจ๊าดไม่มีให้แลกที่เมืองไทยครับ
2.2 ค่า Visa คนละ 810 บาท 4 คน เป็นเงิน 3,240 บาท
2.3 ค่าตั๋วเครื่องบิน นกแอร์ ไปกลับ คนละ 1,987.5 บาท สี่คนเป็นเงิน 15,900 บาท *แล้วแต่โปรโมชั่นครับ
2.4 ค่าโรงแรม คืนแรก Clover City Center Yangon ห้องละ 2,095 สองห้อง เป็นเงิน 4,190บาท / คืนที่สองที่อินทร์แขวน Kyaik Hto ห้องละ 3,063 บาท สองห้อง เป็นเงิน 6,125 บาท
2.5 ค่ารถไฟ จากสถานี Central Railway ย่างกุ้ง ไปลง สถานี ไจโท (Kyaikto) 4 คน 1,782 บาท (52 USD) *รวมค่าบริการจองตั๋วและชำระออนไลน์ ราคาซื้อที่พม่าน่าจะคนละ 8 USD
2.6 ค่ารถสองแถวจาก สถานีรถไฟไจโท ไปคินปุน เบส แค้มป์ (Kinpun base camp) สี่คนเป็นเงิน 2,000 Kyt คิดเป็นเงิน 68 บาท
2.7 ค่ารถขนหมูจาก คินปุน ขึ้น และลง อินทร์แขวน คนละ 5,000 Kyt สี่คนเป็นเงิน 675 บาท
2.8 ค่ารถบัสขากลับ จาก คินปุน มายัง ย่างกุ้ง (ท่ารถ ออง มิง กะลา) คนละ 7,000 Kyt สี่คนเป็นเงิน 950 บาท
2.9 ค่าแทกซี่ ตลอดการเดินทางรวม 32,100 Kyt หรือ 1,081 บาท
2.10 ค่าอาหาร (เลือกร้านทำใหม่ สะอาด) ราคาอยู่ระหว่าง 1,500 Kyt - 2,000 Kyt หรือประมาณ 70 บาท
2.11 ค่าเข้าชม อินทร์แขวน คนละ 6,000 Kyt สี่คนเป็นเงิน 809 บาท (ซื้อบัตรครั้งเดียวเข้ากี่รอบก็ได้) / ชเวดากอง คนละ 8,000 Kyt สี่คนเป็นเงิน 1,078 บาท (ซื้อบัตรครั้งเดียวเข้ากี่รอบก็ได้)
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด สี่คน 39,500 บาท และเราใช้เงินสดในช่วงที่อยู่พม่า สี่คน รวมค่าทำบุญ, ของฝากเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ประมาณ 8,500 บาท
สรุปที่พัก-ที่เที่ยว-กิน-การเดินทาง
1.วันแรก (26 ก.ย. 57) ถึงที่พัก Clover City Center Hotel Yangon 22:45 น.
2.วันที่สอง (27 ก.ย. 57) ตื่นนอนเวลา 5.00 น. ซื้ออาหารเช้า จากร้าน INNWA เช็คเอ้าท์ แล้วไปสถานีรถไฟ และทานข้าวเช้าบนรถไฟ
3. ถึงสถานี รถไฟย่างกุ้ง Central Railway Station 6.15 น. รถไฟออก 7.24 น. ถึงสถานี Kyaikto (ไจโท) 12.10 น.
4. นั่งรถสองแถวจาก สถานีไจโท ถึงคินปุน 12.45 น. ทานอาหารเที่ยงที่ร้าน Seasar แล้วไปรอขึ้นรถขนหมู เวลา 13.10 น.
5. รถขนหมู ออกเดินทางจากหลังร้าน Seasar 13.30 น. ถึง จุดลงรถบนยอดเขา Kyaikto (ใน https://th.wikipedia.org/wiki/พระธาตุไจทีโย เรียกว่ายอดเขาพวงลวง) เวลา 14.30 น.
6. 14:40 น. เช็คอิน รร. โรงแรมไจ้โต (Kyaik Hto Hotel)และเดินไปสักการะ พระธาตุอินทร์แขวนครั้งที่หนึ่ง เวลา 16.00 น.
7. กลับ รร.ทานอาหารเย็นที่ซื้อมาจากร้าน Seasar และไปซื้อเพิ่มจากร้านแถวๆ รร. แล้วกลับไปสักการะครั้งที่สอง เวลา 19.50 น.
8. วันที่สาม (28 ก.ย. 57) ตื่นนอนเวลา 5.00 น. ไปใส่บาตร และสักการะครั้งที่สามเวลา 5.50 น.
9. กลับมาทานอาหารเช้าที่ รร.และเช็คเอ้าท์ และไปรอขึ้นรถขนหมูลงคินปุน เวลา 7.50 น.
10. รถขนหมูลงมาถึงคินปุน เวลา 8.40 น. และรถบัสมาย่างกุ้ง ออกเดินทาง 9.00 น.
11. ถึงท่ารถอองมิงกะลา เวลา 13.20 น. และนั่งแทกซี่มาถึง ชเวดากองเวลา 14.20 น.
12. นั่งแท็กซี่จากชเวดากอง เวลา 14.50 น. ถึง ตลาดสก็อต เวลา 15.00 น.
13. นั่งแท็กซี่จากตลาดสก็อตเวลา 16.55 น. ถึง ชเวดากอง เวลา 17.30 น.
14. นั่งแท็กซี่จากชเวดากอง เวลา 19.19 น. ถึงสนามบินเวลา 20.17 น. เครื่องออก 21.00 น.
เริ่มเรื่อง...ยาว
*ผมตัดตอนที่ไปขอวีซ่าออกไปเลยครับ เพราะเข้าใจว่าตอนนี้ไม่ต้องใช้วีซ่าแล้ว
และต้องขออภัยเรื่องเวลา ที่เขียนไว้ใน VDO เวลาที่ถูกต้อง จะเร็วกว่าเวลาที่เขียนใน VDO ประมาณ 30 นาทีครับ
26 ก.ย. 57 20.15 น. จากสนามบินย่างกุ้ง ถึง โรงแรม
เครื่องบินลงที่สนามบินย่างกุ้งประมาณ 20:15 น. (ใช้เวลาที่พม่าเลยนะครับ ช้ากว่าประเทศไทยประมาณ) เราใช้เวลาผ่าน ตม. และรับกระเป๋าประมาณ 20 นาที
เห็นบูธแลกเงินยังเปิดอยู่ เลยรีบไปแลก USD เป็น Kyt ไว้ก่อน แลกประมาณ 200 USD ได้มา 196,000 Kyt
พอออกมาจากประตูทางออกสนามบิน ถึงกับงง เพราะมืดไปหมด มีแท็กซี่เข้ามารุมกันใหญ่ เลือกไม่ถูกเลยว่าจะไปคันไหน
เลยดูคนที่มีติดบัตรแท็กซี่ และถามราคา ว่าไป รร. Clover City เท่าไหร่ พร้อมกับเอาแผนที่และชื่อ รร. ที่ print มาให้คนขับดู
คนขับก็บอก 9,000 Kyt (ที่เช็คราคามาประมาณ 10 USD) ราคาพอๆ กับที่เตรียมข้อมูลมาก็เลยขึ้นเลยครับ (นึกในใจว่าจะพาเราไปทิ้งป่าวเนี่ย เพราะตอนคนขับเข้ามาหาเรา
เราก็มองไม่เห็นรถเลยไม่รู้เป็นแท็กซี่จริงๆ หรือเปล่า .. นี่คือข้อเสียของการลงเครื่องตอนกลางคืนในประเทศที่ไม่เคยไปมาก่อนครับ)
ตอนจะขึ้นก็มีเด็กมารีบช่วยยกกระเป๋าให้ เลยต้องให้ทิปไป ยี่สิบบาท (อย่าลืมเตรียมแบงค์ยี่สิบมาเยอะๆ นะครับสำหรับ ทิป และทำบุญ)
26 ก.ย. 57 (วันที่ 1) 22.45 น. ที่โรงแรม และร้านอาหารเป้าหมาย
จากสนามบินมา รร. ใช้เวลาประมาณ เกือบๆ ชั่วโมงครับ มาถึงที่ รร. Clover Cityก็ประมาณสี่ทุ่มสี่สิบห้า
รร. นี้ดูในรูปที่ถ่ายด้านหน้าในเว็บ โรงแรม ดีมากเลยครับ
แต่พอมาถึง ปรากฎว่าอยู่ในตรอก หลัง รร.ใหญ่ อีกทีนึง เป็น รร. ตึกแถวครับ ประมาณ รร. 88 ของ สิงค์โปร์
Photo from http://clovercitycenterhotel.com/
เช็คอินเรียบร้อย ก็ไปห้องพักเลยครับ ห้องพักพอเปิดเข้าไป ก็มีห้องน้ำ และเตียงสองเตียงครับ แคบแต่สะอาด และอยู่ได้สองคนแบบสบายๆ เลยครับ (กว้างกว่าที่ ญี่ปุ่นอีก)
จัดวางของเรียบร้อย ก็ลงมาเดินสำรวจ กันครับ เพื่อจะได้รู้ว่ามีร้านอาหารอยู่ตรงไหนบ้าง เพราะเรากะว่าจะรีบตื่นแต่เช้า และเตรียมอาหารเช้าขึ้นไปทานกันบนรถไฟเลยจะได้ไม่เสียเวลา ออกจาก รร. เดินเลี้ยวขวา มาทางปากซอยอีกด้านหนึ่ง ผ่านร้านอาหาร แบบตั้งกับพื้น มีโต๊ะ เตี้ยๆ คล้ายที่เวียดนามตั้งเรียงราย มีคนงานก่อสร้าง มานั่งทานอาหารกันเต็มไปหมด เราเดินผ่านไปเรื่อยจนถึงปากซอย แล้วเลี้ยวขวา เดินตามถนน มาอีกประมาณ 5 นาที เห็นมีร้านอาหาร เป็นลักษณะตึกแถว อยู่ด้านขวามือ ตลอดทาง แต่เดินมาจนพบร้านนึง ชื่อ INNWA แต่ตอนนั้นร้านกำลังจะปิดแล้ว แต่ดูแล้วเป็นร้านที่สะอาด เลยเล็งไว้
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 05.00 น. ซื้ออาหารเช้า
ตั้งนาฬิกาปลุกตอนตีห้า ผมตื่นก่อนเพื่อน เพื่อลงไปซื้ออาหารเช้าเตรียมไว้ โดยเมื่อคืนก่อนนอน เรานัดแนะกันแล้ว ว่าผมจะตื่นก่อนเพื่อลงไปซื้ออาหารเช้า (ค่าห้อง รร. ไม่รวมอาหารเช้า) ส่วนคนอื่นๆ ก็ตื่นแล้วเก็บของใส่กระเป๋าให้เรียบร้อยเตรียมตัวเช็คเอ้าท์ ผมทำธุระส่วนตัวเสร็จ ออกจาก รร. มาถึงร้าน INNWA ประมาณ 05.30 น. ก็ดูเมนูและสั่งอาหารเลยครับ เวลานั้นร้านเพิ่งเปิด คนยังไม่มีก็เลยได้อาหารเร็ว
อาหารก็มีหลากหลายครับ ทั้ง ติ๋มซำ ผัดหมี่ และพวกข้าวผัด กลัวว่าระหว่างทางจะหาของกินลำบาก เพราะนึกถึงตอนนั่งรถไฟไทย และประเมินไว้ว่า อาจไม่มีตู้เสบียง ก็เลยสั่งเต็มที่ครับ
ชุด ABF (American Break Fast) เป็นข้าวผัดไก่+ปีกไก่ย่าง 1 ไม้ + ไข่เจียว (แนวแบบ Omelet) ถ้าจำไม่ผิด แถม ชา หรือ กาแฟ ร้อน ให้อีก ชุดละ 1 แก้ว 4 ชุด ชุดละ 2,000 Kyt (4 ชุด เป็นเงินไทยก็ราวๆ 270 บาท)
ติ๋มซัม 1 ชุด ชุดละ 5,700 Kyt ประมาณ 192 บาท
ถั่วทอดบรรจุถุง (อ่านฉลากดูน่าจะนำเข้าจากอินเดีย) ถุงละ 500 Kyt ประมาณ ถุงละ 17 บาท
อาหารผมสั่งแบบเอากลับบ้าน (Take away) เค้าก็จะใส่กล่องโฟมแบบใหญ่ให้ พร้อมมีช้อนซ่อมพลาสติกและกระดาษทิชชู ให้ด้วย ออกจากร้าน INNWA ประมาณ 05.45 เดินผ่านแผงข้างถนนขาย ซาโมซา (เข้าใจว่าเป็นอาหารแบบอินเดียครับ เพราะเพื่อนแขกอินเดียชอบแบ่งให้ทานบ่อยๆ คล้ายกะหรี่ปั๊บ แต่ไส้เป็นผัก และรสเผ็ดๆ แบบพริกไทย) ก็เลยซื้อตุนไว้อีก ชิ้นละ 100 Kyt ประมาณชิ้นละ 50 สต. ถึง รร. ทุกคนก็พร้อม ก็หิ้วกระเป๋ากันลงมาเช็คเอ้าท์ครับ ตอนแรกวางแผนว่าเราจะฝากกระเป๋าใบใหญ่ไว้ที่ รร.นี้ และ เช่าห้องไว้ 1 ห้อง เพราะตอนขึ้นอินทร์แขวนจะได้ไม่ต้องแบกเยอะและเพื่อตอนกลับมาจากอินทร์แขวนเหนื่อยๆ จะได้แวะพักอาบน้ำล้างหน้าล้างตาก่อนกลับเมืองไทย แต่ รร. ไม่ยอมให้เปิดแค่ห้องเดียวแล้วเข้าไปล้างหน้าล้างตากัน 4 คนครับ เค้าให้ใช้ได้แค่ 2 คนเท่านั้น ขนาดต่อรองว่า เราเปิดห้องแต่เราไม่ได้นอนนะ เค้าก็ไม่ยอมครับ ก็เลยเปลี่ยนแผน ขนกระเป๋ากันไปหมด
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 06.00 น. สถานีรถไฟ และสภาพรถไฟ
เราเช็คเอ้าท์จาก รร. ก็ให้เบลบอย ของ รร. ช่วยเรียกแท็กซี่และต่อรองราคาให้ ได้ราคา 2,000 Kyt (67 บาท) นั่งแท็กซี่ประมาณ 5 นาที ก็ถึงสถานีรถไฟ เสียค่ารถยนต์เข้าสถานีรถไฟ อีก 100 Kyt ครับ
เราออกมาตอนประมาณ 6.00 น. พระอาทิตย์กำลังขึ้น แสงอาทิตย์ กำลังสวยงามครับ
พอลงจากรถ มีคนยกกระเป๋า เข้าประกบทันทีครับ (ที่จริงยกเองก็ได้แต่ก็ไม่อยากให้เสียน้ำใจ เรื่องของเรื่องคือกลัวว่ายกแล้วยกของเราไปทางอื่นหนะสิครับ) ก็ต้องคอยมองไว้ แล้วก็รีบเดินไปที่ห้องขายตั๋ว เพื่อถามว่ารถไฟ ตามตั๋วนี้ (แสดงตั๋วให้ดูด้วย) จอดอยู่ตรงไหน เจ้าหน้าที่ก็บอกให้เดินขึ้นสะพานไป แต่เดินไปก็ยังไม่เจอนะครับ เพื่อความแน่ใจก็เลยต้องถามคนที่แต่งเครื่องแบบ (ไม่กล้าถามคนทั่วไปเดี่ยวบอกผิด) ก็เลยได้เจอขบวนที่ถูกต้องครับ
ขึ้นรถไฟได้ คนยกกระเป๋า ก็จัดแจงเอากระเป๋าใส่ช่องวางให้เรียบร้อย พร้อมจัดเก้าอี้ ตามเลขที่นั่งให้ตั๋ว และหันเก้าอี้ชนกันให้อย่างเรียบร้อย
ตู้ Upper class ที่เราจองแบ่งเป็น 2 แถว คือ แถวนึงมี สองที่นั่ง และอีกแถวเป็นแบบ 1 ที่นั่ง (นึกถึงภาพรถทัวร์แบบ VIP 24 ที่นั่งที่เมืองไทยครับ) และแต่ละแถวหมุนกลับ 180 องศาได้ คือเช่นใครจอง 4 ที่นั่งแบบติดกัน ก็หันที่นั่งมาเจอกัน ก็เป็นส่วนตัวดีครับ ถึงแม้เก้าอี้จะเก่าไปหน่อย แต่ดูเหมือนเค้าพยายามเปลี่ยนผู้รองนั่งให้ใหม่ ก็พอรับได้ครับ และอีกอย่าง เก้าอี้ตัวใหญ่ครับ นั่งสบาย
ตอนค้นหาข้อมูลจากเว็บ www.seat61.com เจอแบบที่น่านั่งมากครับ
เลยตั้งใจจะจองให้ได้แบบในรูปซ้ายแต่ก็ไม่ได้ ไม่ทราบว่าต้องจองยังไงเหมือนกัน ถ้าเข้าใจไม่ผิดในภาพ เป็นขบวนรถที่ได้จากญี่ปุ่น แต่ช่วงเวลาที่เราไปหยุดวิ่งเพื่อบำรุงรักษาอยู่ครับ และก็ได้ข้อมูลมาจากอีกเว็บนึง... upper class เป็นแบบรูปขวาครับ เลยเป็นอะไรที่ผวามากว่าถ้ามาถึงรถไฟพม่าจริงๆ ได้เก้าอี้แบบนี้ คงสงสารลูกทัวร์หน้าดู
พอที่นั่งบนรถไฟเรียบร้อยแล้ว ก็ขอเดินสำรวจหน่อยครับ เพราะยังไม่ถึงเวลารถไฟออก ลองไปดูโบกี้ข้างๆ เป็นแบบ Ordinary class เก้าอี้เป็นไม้
<<ซ้ายที่นั่งแบบ Ordinary class, ขวาที่นั่งแบบ Ordinary class ขยาย>>
ส่วนสภาพชานชลา ก็บรรยกาศเหมือนที่เมืองไทย
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 07.24 น. รถไฟออก-อาหารเช้าบนรถไฟ
รถไฟออกเดินทางแล้ว เราเริ่มลงมือรับประทานอาหารที่ซื้อมาจากร้าน INNWA ปริมาณเยอะ และ รสชาดใช้ได้เลย ครับ พอดีมีแม่ค้าขายของเดินขายบนรถไฟ เราเลยซื้อน้ำเปล่าตุนไว้ก่อน เลือกแบบมีฉลากและพลาสติกหุ้มฝา เพื่อความสะอาดไว้ก่อน
<<ABF จากร้าน INNWA>>
รถไฟวิ่งไปเรื่อยๆ ผ่านบ้านเรือนและทุ่งนาตามรายทาง และจอดตามสถานีต่างๆ
<<รถไฟวิ่งผ่านสถานที่ต่างๆ>>
การเดินทางโดยรถไฟสะดวกตรงที่ พื้นที่กว้างขวาง นั่งสบาย มีห้องน้ำ สะดวกกับการนั่งเป็นเวลานานๆ (ดีกว่าการเดินทางโดยรถบัส แต่ใช้เวลาเดินทางมากกว่ารถบัส) … แต่ห้องน้ำบนรถไฟ (ข้างล่างรถไฟด้วย) ควรปรับปรุงอย่างแรง ถ้าเพื่อนพม่าอ่านอยู่ก็ขอโทษด้วยครับ เพราะมันแย่มากจนนั่งไม่ลง (แต่ยังดีกว่าไม่มี) ดังนั้นเราควรเตรียม กระดาษทิชชู่ ทั้งแบบแห้งและเปียก สบู่ล้างมือแบบเจล พร้อมทั้งน้ำเผื่อชำระติดตัวไปด้วย
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 12.10 น. รถไฟถึงสถานีไจโท
รถไฟถึงสถานี ไจโท (Kyaikto) แต่ก่อนจะถึงเราเตรียมยกกระเป๋า มาใกล้ๆ ทางลงก่อนหน้านั้นประมาณ 15 นาที เพราะกลัวว่ารถจะจอดแป็บเดียว พอถึงสถานีก็รีบลง แวะเข้าห้องน้ำ (รับไม่ค่อยได้อีกเช่นเดิม) แล้วเดินออกมาทางด้านหน้าสถานี จะพบ รถสองแถวจอดรออยู่ ถามคนที่ยืนอยู่ข้างๆ รถว่าไป Kinpun (คินปุน) ใช่หรือเปล่า เค้าบอกว่าใช่ เราและกระเป๋า อัดกันไปบนรถสองแถว พร้อมกับผู้โดยสารอีกสิบกว่าคน แน่น ยังกะปลากระป่อง พร้อมด้วยกองสัมภาระอยู่ตรงกลาง และบนหลังคา เสียค่ารถไป คนละ 500 Kyt
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 12.30 น. อาหารเที่ยง-ซื้อตั๋วรถบัสขากลับ
ลงรถที่คินปุน เดินข้ามถนนมาเจอร้านอาหารชื่อ Seasar เลยแวะเข้าไปนั่งพักทานน้ำ และถามข้อมูลว่า จะไปขึ้นรถขนหมูตรงไหน และจะซื้อตั๋วรถบัสขากลับได้อย่างไร ก็ได้ความว่า รถขนหมู เดินเข้าซอยข้างร้านขึ้นเนินไปแป็บเดียวก็ถึง ส่วนรถบัสขากลับไปย่างกุ้ง ซื้อที่ร้านได้เลยราคา ที่นั่งละ 7,000 Kyt รวมสี่คน 943 บาท เราก็เลยซื้อตั๋วรถบัสไว้ก่อน เราเลือกเที่ยว 9.00 น.
<<ตั่วรถบัสขากลับ>>
ซื้อตั๋วรถบัสเสร็จ เราก็ซื้ออาหารสำหรับมื้อเย็นบน อินทร์แขวน ราคาอาหารก็ตามรูปครับ เค้าใส่กล่องพลาสติกให้เรียบร้อยครับ โดยเราสั่งเป็นพวกข้าวผัด และผัดหมี่ เพื่อจะได้ไม่หกเลอะเทอะระหว่างเดินทาง
<<ราคาอาหารร้าน Seasar>>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 13.00 น. ขึ้นรถขนหมู
เดินจากร้าน Seasar ประมาณ 2 นาที ก็ถึงสถานีรถขนหมูครับ เป็นลักษณะหลังคาสูง และมีรถขนหมู (รถหกล้อ) จอดอยู่ พร้อมมีบันไดปีนขึ้นอย่างแข็งแรง รถยังไม่ออกมีคนทยอยมาขึ้นเรื่อยๆ เราเอาของไว้ท้ายรถ (หลังที่นั่งแถวสุดท้าย) แล้วก็ปีนขึ้นไปนั่งประมาณแถวที่สาม ค่าโดยสารคนละ 2,500 Kyt ขาขึ้น
<<ซ้ายสถานีรถขนหมู, ขวาบนรถขนหมู>>
รถขนหมูที่พวกเรานั่ง ต่างจากข้อมูลที่ค้นหาจากอินเทอร์เน็ตมากครับ เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ต รถจะไม่มีพนักพิง และแถวที่นั่งเป็นไม้ท่อนยาวแคบๆ พันปิดด้านบนด้วยกระสอบป่าน แต่เราโชคดีที่ได้นั่งรถรุ่นใหม่ครับ
<<รถขนหมู ถ่ายตอนขาลง>>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 13.30 น. รถขนหมูออกเดินทาง
รถขนหมูเริ่มออกจากท่าครับเรากำลังจะขึ้นไปบนยอดเขา (พวงลวง) ครับ รถออกมาได้สักครู่ก็ผ่านด่านตรวจสอบความเรียบร้อยสักครู่แล้วเดินทางต่อ (ใน VDO 2 มีคลิปสั้นๆ ตอนนั่งรถขนหมูครับ) มีการทำถนนเป็นระยะๆ
<<รถขนหมูขณะขึ้นไปยอดเขา>>
ผ่านด่านมาได้ สักพักทางเริ่มชันขึ้นและเป็นป่ามากขึ้น ผมเห็นเมฆฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล นึกถึง ข้อมูลในพันธ์ทิพย์ ของท่านนึงทันที...ที่บอกว่าให้เตรียมเสื้อกันฝนและพลาสติกคลุมกระเป๋ามาด้วย ซึ่งเราก็เตรียมมาครับ แต่ไม่ได้ดึงออกมาเพราะตอนมานั่งรถขนหมูแดดยังเปรี้ยงอยู่เลย แต่นั่งจนถึงยอด ไม่มีฝนตกเลยครับ แค่ท้องฟ้ามืดคริ้มตลอดทางเท่านั้นเอง ไม่งั้นคงเปียกกันหมดแน่ๆ
<<ขณะขึ้นยอดเขา ทางเริ่มชัน ฝนเริ่มตั้งเค้า>>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 14.30 น. โรงแรมไจ้โต (Kyaik Hto Hotel)-บรรยากาศโดยรอบ
รถขนหมูแวะจอดบริเวณจุดจอดรถก่อนขึนยอดเขา (ใน https://th.wikipedia.org/wiki/พระธาตุไจทีโย เรียกว่ายอดเขาพวงลวง) สักครู่แล้วขับต่อมาจอดที่จุดลงรถบนยอดเขาพวงลวง เราลงจากรถและขนกระเป๋าลง มีดารามากมายมารุมล้อมครับ มีทั้ง โตโน่, ณเดช, เคน และอื่นๆ มาขอช่วยขนกระเป๋า ใบละยี่สิบบาท แต่พอดีพวกเราหิ้วกันเองไหวเลยไม่ได้ใช้บริการดาราเหล่านี้ครับ ลากกระเป๋าคนละใบ เดินจากจุดรถลงผ่านร้านอาหาร ร้านค้า และเลยผ่านโรงแรม Mountain Top ทางด้านขวามือ มาหน่อย ก็ถึง รร. Kyaik Hto ที่เราจองไว้ครับ ใช้เวลาจากจุดลงรถเดินมาถึง รร. ก็ประมาณ 5 นาทีครับ เช็คอินด้วย voucher ที่ Print มาจาก Agoda สักครู่ เจ้าหน้าที่ก็พามาที่ห้องพักครับ เห็นบรรยากาศแล้วหายเหนื่อยครับ ตอนแรกกะจะไม่จอง รร. บนนี้แล้ว รวมทั้งคิดเอาด้วยว่าจะมาหาเอาแบบ walk-in แบบที่บางท่านเล่าให้ฟัง แต่สุดท้ายตัดสินใจจองผ่าน Agoda ถึงราคาแพงกว่าสามเท่าของ รร.ที่คินปน แต่คุ้มและสะดวกสบายกว่าเยอะเลยครับ
<<ห้องพักและบรรยากาศ ถ่ายบริเวณหน้าห้อง และใน รร.ไจโท>>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 15.10 น. เดินจาก รร. ไปอินทร์แขวน
หลังจากพักเหนื่อยด้วยการถ่ายรูปตามมุมต่างๆ ของ รร. แล้ว เราก็พร้อมไปสักการะ พระธาตุอินทร์แขวน กันแล้วครับ เราเริ่มเดินออกจากประตู รร. แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนน เล็กๆ
พวกเหล่าดารา ก็มาล้อมหน้าล้อมหลังเราอีกเช่นเคยครับ ดาราคนนึงบอกว่า เราต้องไปซื้อตั่วเข้าพระธาตุก่อน ซึ่งเรามองไปทางขวา ก็จะเป็นสำนักงานของวันพระธาตุอินทร์แขวน ชำระค่าตั่วคนละ 6,000 Kyt ได้เป็นบัตรผ่าน มาคล้องคอ คนละใบ ใช้เข้าออก พระธาตุกี่รอบก็ได้
<<ซ้ายสำนักงานของวัดพระธาตุฯ, ขวาบัตรผ่านเข้าออกพระธาตุ>>
จากสำนักงานเดินต่อไปสักครู่ เริ่มเห็นซุ้มประตูวัดอยู่ข้างหน้า ถึงบริเวณที่มีสิงห์ ยืนอยู่ มีป้ายบอกให้ถอดรองเท้า ทุกคนต้องถอดรองเท้า จะทิ้งไว้ หรือหิ้วไปด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้น เตรียมถุงใส่รองเท้าไปด้วยนะครับ (หิ้วไปด้วยสบายใจกว่า)
<<ซ้ายถนนไปยังวัดพระธาตุอินทร์แขวน, ขวาซุ้มประตูวัดพระธาตุฯ >>
เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้ามา ยังคงเป็นทางเดินปูด้วยหินขัดต่อไปอีก ทางด้านซ้ายมือเป็นพระธาตุฯ องค์จำลอง เยื้องไปหน่อยทางด้านขวาเป็น รร. โยโยเลย์ ซึ่งมี รถบัส ยี่ห้อเดียวกันนี้ด้วย โดยช่วงเวลาที่ผมไป เค้ากำลังก่อสร้างอยู่ครับ ท่านใดสนใจ ลองหาจองจาก อโกด้า หรือเว็บไซต์ โยโยเลย์ นะครับ เพราะเรียกได้ว่า อยู่ในวัดพระธาตุอินทร์แขวนเลย ใกล้มากเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสักการะให้ครบ 3 รอบ
<<ด้านขวามือ ที่มีหลังคายื่นออกมาด้านขวามือคือโรงแรม โยโยเลย์ >>
เดินเลย รร. โยโยเลย์ มาหน่อยนึงจะเป็นอีกซุ้มประตูนึง ต้องเดินขึ้นบันได และต่อจากนี้จะเป็นลานหินขัดกว้าง เลยมีระฆังให้เคาะเหมือนเช่นความเชื่อของคนไทย มองจากลานนี้ไปจะเห็น เจดีย์พระธาตุอินทร์แขวนอยู่ห่างไปประมาณ 100 เมตร เราแวะถ่ายรูปกันสักครู่ แล้วเดินต่อไปยังพระธาตุฯ
<<ซ้ายลานกว้างมองเห็นองค์พระธาตุฯ อยู่ไม่ไกล, ขวาหน้าองค์พระธาตุฯ >>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 16.00 น. สักการะครั้งที่หนึ่ง
ระยะเวลาเดินจาก รร. มายังพระธาตุฯ (ถ้าไม่แวะ) ประมาณ 10 นาที และขณะนี้เรามาอยู่ตรงหน้าพระธาตุฯ แล้ว ก่อนเริ่มสักการะครั้งที่หนึ่ง น้องสาวบอกให้ไปซื้อทองคำเปลว กับดอกไม้กันก่อน (ทองคำเปลวเตรียมมาจากเมืองไทยก็ได้) ทองคำเปลว 1,750 Kyt ซื้อเฉพาะผู้ชายก็พอ เพราะทางวัดอนุญาตให้เฉพาะผู้ชายลงไปปิดทองที่ฐานพระธาตุ ส่วนที่เป็นก้อนหินสีทองได้เท่านั้น ส่วนดอกไม้ กำละ 2,000 Kyt มีร้านขายดอกไม้อยู่ทางขวามือของห้องขายทองคำเปลว หากยังไม่มาขาย สามารถเดินลงบันไดที่อยู่ต่อจากร้านขายดอกไม้ออกประตูวัดไป จะเป็นร้านค้าเล็กๆ หาซื้อได้จากละแวกนี้ ส่วนธูปเทียน เตรียมมาเองจากเมืองไทยก็ดี จะได้ไม่ต้องซื้อ แต่อาจต้องใส่กระเป๋าใหญ่โหลดใต้เครื่องมานะครับ
<<ซ้ายร้านขายทองคำเปลว อยู่ด้านตรงข้ามองค์พระธาตุฯ, ขวาเดินผ่านข้างร้านขายทองคำเปลว จะมีร้านค้ามากมาย >>
เมื่อได้เครื่องสักการะครบแล้ว เราก็จุดธูปเทียนและกล่าวคำสักการะตามที่ได้ค้นข้อมูลมา ที่บริเวณหน้าองค์พระธาตุ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ยืนแนะนำให้จุดธูปเทียนและวางดอกไม้ และคอยดูแลให้เฉพาะผู้ชายลงไปปิดทองคำเปลวที่ฐานพระธาตุ หลังจากสักการะ องค์พระธาตุฯ แล้ว หากใครศรัทธา เทพทันใจ สามารถไปถวายเครื่องบูชาและขอพร ได้ที่ฝั่งขวามือของพระธาตุ มีเครื่องบูชาให้ทำบุญชุดละ 5,000 Kyt โดยมีผู้ดูแลเป็นคนกล่าวนำ เมื่อบูชาเสร็จ อนุญาตให้เฉพาะผู้ชาย ขึ้นไปขอพรแล้วให้เอาหน้าฝากจรดนิ้วของเทพทันใจ นัยว่าจะได้พรสมปรารถนา ส่วนท่านที่ศรัทธาในพระจำประจำวันเกิดและนักษัตร ก็อยู่ทางขวามือเช่นกัน ก่อนถึงเทพทันใจ โดยสามารถอธิษฐานและตักน้ำรดรูปปั้นนักษัตรที่อยู่บริเวณฐานพระประจำวันเกิดได้
<<ซ้ายเทพทันใจ, ขวาพระประจำวันเกิดและนักษัตร >>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 16.45 น. เดินเล่นรอบวัดพระธาตุฯ หลังจากสักการะและขอพร สิ่งศักดิ์ เสร็จตอนนี้ก็เป็นเวลาเดินชมรอบบริเวณ เราเดินกันไปตรงบริเวณที่ซื้อดอกไม้ มีร้านค้าเล็กๆ เยอะแยะไปหมด มี รร. สำหรับ Back pack ก็มีด้วย
<<บริเวณหลังวัด>>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 17.00 น. กลับ รร. เตรียมมื้อเย็น
แสงสว่างเริ่มลดลง เช่นกัน กับอุณหภูมิ (ประมาณ 20 องศา C) เราเริ่มเดินกลับที่พัก เพื่อพักผ่อน และทานอาหารเย็น ที่เราซื้อเตรียมไว้จากร้าน Seasar อากาศเย็นลง เราอยากได้ซุปร้อนๆ เพิ่ม เลยเดินออกจาก รร. เลี้ยวขวา ย้อนไปทางจุดที่ลงรถขนหมู เยื้องกับ รร. Mountain Top มีร้านอาหารอยู่ดูเมนูแล้ว สั่งซุปไก่ ใส่ไข่ ราคา 2,500 Kyt กลับมาถึง รร. ก็ทานกันอย่างเอร็ดอร่อย เราเตรียมกล่องใส่อาหารและช้อนซ่อม พร้อม อุปกรณ์ล้างจานชุดเล็กมาจากเมืองไทย ก็เลยไม่เลอะเทอะ <<ซ้ายร้านอาหารบนไจ้โท่ที่เราไปสั่งอาหารเพิ่ม, ขวาพระอาทิตย์กำลังตก ด้านหลัง รร. >>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 19.40 น. สักการะครั้งที่สอง
พวกเราออกจาก รร. มาถึงองค์พระธาตุฯ อีกครั้งเพื่อสักการะรอบที่สอง แต่กว่าจะออกมาได้ต้องคะยั้นคะยอคุณแม่น่าดู เพราะคุณแม่บอกว่าเหนื่อย แต่ไหนๆ มาถึงแล้ว (กว่าจะมาถึงได้) ก็ต้องทำให้ครบสูตร ในที่สุดก็ช่วยกันผลักกันเข็นมาตลอดทางจนถึงพระธาตุฯ เมื่อมาถึงเราพบว่าคนเริ่มน้อยลง อากาศเย็นขึ้นและมีลมพัดมาเป็นระรอก ด้านซ้ายของพระธาตุฯ มีห้องกระจกกันลม ใครที่ไม่ชอบอากาศเย็นสามารถเข้าไปสวดมนต์ และนั่งสมาธิในห้องนี้ได้ ยังไม่สองทุ่มดี เจ้าหน้าที่ยังอนุญาตให้ผู้มีจิตศรัทธาลงไปปิดทองที่ฐานพระธาตุฯ ได้
<<รูองค์พระธาตุฯ ยามค่ำคืน >>
27 ก.ย. 57 (วันที่ 2) 20.35 น. ก่อนนอนเจอเรื่องเกือบน่ากลัว
เรากลับมาถึงที่พักอาบน้ำอุ่น และนอนดูโทรทัศน์ เป็นละครพม่า สักพักก็เข้านอน เพราะตอนเช้าต้องตื่นแต่เช้า ปิดไฟนอนไปได้สักครู่รู้สึกเหมือนมีใครมาสะกิด ... เอาหละสิ... นึกว่าเจอดีเข้าให้แล้ว ถ้าไม่ใช่ ผ สระ อี ก็แมลงสาบ... รีบลุกไปเปิดไฟ โชคดีไป ที่แท้เป็นเจ้าตั๊กแตน ที่เข้ามาจากทางช่องรอยต่อของประตูกับพื้น เลยจับออกไปปล่อยนอกห้อง แล้วก็เอาผ้าอุดช่องนั้น คราวนี้ก็หลับต่ออย่างสบายใจ .. หมดวันที่ 2 ด้วยความเหนื่อยและสนุก
<<รูป 056 รูปตั๊กแตนที่ตอนแรกคิดว่าเป็นอย่างอื่น >>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 05.00 น. ตื่นแต่เช้า
ผมตื่นนอนเวลาตีห้า เหมือนเช่นเคย เข้าห้องน้ำแต่งตัวเสร็จ ก็ทยอยปลุกสมาชิกคนอื่นๆ พวกเราพร้อมกันเวลาประมาณ 05.30 น. เพื่อออกไปใส่บาตร และสักการะรอบที่ 3
<<ซ้ายตีห้า พระอาทิตย์ ยังขึ้น, ขวาตีห้าครึ่ง พระอาทิตย์เริ่มขึ้น เริ่มมีแสงสว่าง >>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 05.45 น. สักการะครั้งที่สาม
เราออกจาก รร. แวะใส่บาตรพระ และมาถึงองค์พระธาตุอีกครั้งและสักการะเป็นรอบที่ 3 ครบตามสูตร จากนั้นเดินกลับ รร. อากาศตอนเช้าเย็นกว่ากลางคืนนิดหน่อย
<<บรรยากาศยามเช้า >>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 06.30 น. ทานอาหารเช้าแล้วเช็คเอ้าท์
เรากลับมาถึง รร. เก็บของเตรียมไว้ แล้วออกมาทานอาหารเช้าที่ รร. จัดไว้ (รวมอยู่ในค่าห้อง) อาหารเป็นแบบ บุฟเฟ่ข้าวต้ม และ อเมริกัน คือมีทั้งข้าวต้ม ขนมปังปิ้ง ไข่ดาว ไส้กรอก หมีผัด กับข้าวสำหรับข้าวต้ม ทานกันได้เต็มที่ ที่ห้องอาหารพบกับทัวร์ไทยด้วย ทานอาหารเช้าเสร็จ กลับไปทำธุระส่วนตัวกันที่ห้อง ก็พร้อมเช็คเอาท์ เราเช็คเอ้าท์กันตอน 7.30 น. แล้วเดินเลี้ยวขวาออกจากประตูโรงแรม มาตามทางที่ไปท่ารถขนหมู พวกเหล่าดารามาต้อนรับกันอีกมากมาย แต่คราวนี้สงสารเลย ให้ โตโน่ขนกระเป๋าให้ ค่าขนใบละยี่สิบ เลยให้ขนไปสองใบ จ่ายตังค์ให้โตโน่เป็นแบงค์ยี่สิบสองใบ แป็บนึง พ่อโตโน่ เรียกลูกน้องเอากระเป๋าพวกเรา ใส่เข่งแบบเดินนำหน้าเราไป ส่วนพ่อโตโน่ ก็เดินตามพวกเรามา ระหว่างทางยังพบขบวนพระบิณฑบาตร อยู่เป็นระยะ
แต่พอถึงท่ารถ อีตาโตโน่หายไป ส่วนเด็กขนกระเป๋า เดินมาเก็บเงินค่าแบบกระเป่ากับเรา แหมม เจ้าโตโน่ ทำเราซะแล้วเราก็บอกไปว่าจ่ายให้โตโน่ไปแล้ว เด็กก็พูดภาษาไทย ไม่ชัดว่ายังไม่ได้รับ ขี้เกียจเถียง เดี่ยวจะขึ้นรถไม่ทัน ก็เลยจ่ายเพิ่มไปให้ ... จำไว้เลยนะ โตโน่...
<<ซ้ายเด็กรับจ้างขนกระเป๋า,ขวาพระกำลังบิณฑบาตร >>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 07.45 น. ขึ้นรถขนหมูกลับ...ไม่หมูเหมือนขามา
พวกเรามาถึงท่ารถขนหมูแล้ว แต่คราวนี้ไม่ง่ายเหมือนขาขึ้น เพราะไม่รู้ว่าตกลงคันไหน เป็นรถที่จะลงเที่ยวต่อไปกันแน่น ยืนดูอยู่สักพัก เห็นคนบางกลุ่มก็เดินขึ้นเขาต่อไป เหมือนกับว่าจะไปที่จุดพักรถ อีกจุด แต่พวกเราไม่เอาด้วยแน่ สักพักคนก็เริ่มเดินไปที่รถค้นนึงและเริ่มต่อแถว เราก็ไปต่อแถวด้วย พอให้ขึ้นได้เท่านั้นแหละ แย่งกันอุตลุต ผมก็รีบให้พ่อแม่กะน้องขึ้นไปนั่งก่อน พอจะถึงตาผมบ้างปรากฎที่เต็ม มีแถวหน้าสุดว่างอยู่ที่นึง แต่มีตาชายหนุ่มพม่า นั่งกันไว้ บอกไม่ว่าง ผมจะเดินไปนั่ง ก็ทำท่าเหมือนต่อว่า โชคดีคนดูแลรถ บอกให้ผู้ชายพม่าคนนึงที่ดูท่าทางจะเป็นคนท้องถิ่นที่อยู่บนนี้ ลุกให้ผมนั่ง และให้เค้าไปยืนตรงที่วางกระเป๋าแทน ซึ่งผมยังรู้สึกขอบคุณน้ำใจของคนพม่าคนนี้มาก ต่างจากคนที่กันที่ไว้ ซึ่งปรากฎตอนหลังว่ากันให้แฟนตัวเอง ซึ่งไม่อยากแย่งกับคนอื่น แต่ค่อยๆ เดินขึ้นบันไดมานั่งอย่างผู้ดี ...แต่เพราะเพิ่งทำบุญมาเลยอโหสิกรรมให้ดีกว่า นั่งกันสักพัก รถเริ่มออก (ประมาณ 8.00 น.) รถขับมาได้สักพัก ถึงจุดชำระเงิน จ่ายค่ารถกันคนละ 2,500 Kyt รถขาลงใช้ความเร็วได้ดีกว่าขาขึ้น เพราะเป็นทางลงเขาตลอด และเป็นโค้งแบบหักศอกด้วย แต่ก็มีเสียเวลาหยุดหลบทางรถขาขึ้นบ้าง สรุปเลยใช้เวลาลงพอๆ กับขาขึ้น
<<ซ้ายทางลงแบบโค้งหักศอก, ขวารถจอดที่จุดเก็บเงิน, ล่างซ้ายหยุดเพื่อรับของ >>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 08.50 น. รถบัสไปย่างกุ้ง แอร์ไม่เย็น คนแน่น
รถขนหมูลงมาถึงคินปุน ผมตั้งใจจะขอบคุณชายชาวพม่าที่ลุกขึ้นให้ผมนั่ง แต่มัวยุ่งอยู่กับกระเป๋า หันมาอีกทีเค้าเดินหายไปซะแล้ว เราได้กระเป๋ากันเรียบร้อย ก็เดินมาที่ร้าน Seasar ทางร้านก็บอกว่าจอดอยู่ตรงสามแยก เราก็เดินมาที่รถและแสดงตั่ว เจ้าหน้าที่ก็จัดให้นั่งตามที่ระบุในตั๋ว รถมีทีวีให้ดู เปิดละครพม่าให้ดูตลอดทาง มีทั้งละครตลก และละครผี พล็อตเรื่องแนวเดียวกับละครช่องเจ็ดเมืองไทย แต่ดันไม่มีห้องน้ำ รถเริ่มออกเดินทางประมาณ 9.10 น. และจอดรับผู้โดยสารเพิ่มตลอดทาง ผู้โดยสารเริ่มเยอะขึ้นจนเกือบจะครบที่นั่ง แต่ขณะเดียวกันอากาศในรถก็ร้อนขึ้น อาการเหมือนแอร์มีแต่ลมไม่มีความเย็น
<<ซ้ายบนรถบัส, ขวาจุดจอดรับผู้โดยสาร >>
รถยังคงวิ่งต่อไปเรื่อยผ่านทุ่งนาผ่านถนนแคบ ในชุมชน รถทำความเร็วได้ไม่มาก แซงก็ลำบาก นั่งมาได้ประมาณ 1 ชม. หันหลังกลับไปดู โอ้โห มีแถวเสริมตรงกลางมาตั้งแต่เมื่อไหร่เนีย นั่งต่อไปเรื่อยๆ แถวตรงกลางไม่ได้หมดแค่นั้น มีคนขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงแถวหน้าสุดเลย ที่สำคัญสังเกตดู แถวตรงกลางเกิดจากการพับเก้าอี้เสริมที่ติดอยู่ด้านนอกของเบาะฝั่งซ้ายมือลงมานี่เอง
<<รูชุมชนและสภาพแวดล้อมที่รถบัสผ่าน, ล่างสุดซ้ายรถแน่นจนผู้โดยสารต้องนั่งเก้าอี้พิเศษ >>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 11.45 น. รถบัสแวะพักที่พะโค
รถบัสมาหยุดพักที่จุดพักรถเมืองพะโค (Bago) เพื่อจอดให้ผู้โดยสารลงเข้าห้องน้ำและรับประทานอาหาร รถจอดพักที่นี่ประมาณ 30 นาที พนักงานก็เรียกผู้โดยสารขึ้นรถเพื่อออกเดินทางต่อ ออกจากจุดพักรถนี้ ถนนมีความกว้างมากขึ้น รถทำความเร็วได้ดีขึ้น
<<ซ้ายบนรถบัสที่เรานั่งมา, ขวาบนห้องน้ำสภาพรับไม่ได้เช่นเดิม, ซ้ายล่างเมนูและราคาอาหารของที่ร้าน , ขวาล่างผู้โดยสารกำลังรับประทานอาหาร>>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 13.30 น. แท็กซี่จากอองมิงกะลา-ชเวดากอง
รถบัสมาถึงสถานีขนส่ง อองมิงกะลา (Aung Mingalar Highway Bus Station) เราขนกระเป๋าลง และมองหาแท็กซี่ ซึ่งก็ได้มาคันนึง บอกคนขับว่าเราจะไป ชเวดากอง เค้าบอก 7,000 Kyt ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่เราหามา ก็เลยตกลงไป นั่งรถประมาณ 45 นาที ก็ถึง ชเวดากอง
<<ซ้ายแท็กซี่ที่นั่งจากอองมิงกะลา, ขวาขณะขับผ่านย่างกุ้ง แถวบ้านนางอองซาน>>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 14.20 น. ฝากของที่ชเวดากองแล้วไปสก็อต
แท็กซี่มาส่งพวกเราที่ชเวดากอง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นทางเข้าไหน แต่ทางเข้าตรงนี้ดูหรูมาก ปูพื้นไม้ขัดมันอย่างดี พวกเราเดินเข้าไปซื้อบัตรเข้าชม คนละ 8,000 Kyt แล้วเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น พร้อมกับฝากกระเป๋าไว้ที่มุมฝากกระเป๋า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูให้ และขึ้นลิฟท์ไป เพื่อไปสักการะ เจดีย์ชเวดากอง พอออกจากลิฟท์กำลังเดินไปตามทางที่จะไปเจดีย์ เห็นว่าแดดยังร้อนมาก น้องสาวผมซึ่งเคยมาแล้วครั้งนึงที่ชเวดากอง ก็บอกว่า เราเปลี่ยนแผนไปเดินตลาดสก็อตก่อน เพราะตอนนี้พื้นรอบเจดีย์คงร้านมาก พวกเราเลยลงลิฟท์มาเรียกแท็กซี่เพื่อไปชเวดากองกันก่อน
<<ซ้ายบนบริเวณหน้าเค้าเตอร์ขายบัตร, ขวาบนทางเดินเมื่อออกจากลิฟท์เพื่อไปยังเจดีย์, ล่างตั๋วเข้าชมเจดีย์ จะมีสติ๊กเกอร์ให้แปะหน้าอกด้วย>>
แท็กซี่มาส่งพวกเราที่ตลาดสก็อต อันดับแรกคือหาร้านเพื่อทานอาหารกลางวันก่อน ก็เดินมายังห้างข้างๆ ตลาดปรากฎว่าไม่มีร้านถูกใจ เลยเดินทะลุไปด้านหลังตลาดก็เจอร้านนึงเลยเข้าไปนั่งสั่งอาหารและน้ำดื่ม ค่าอาหารมือนี้ 17,000 Kyt เพราะหิวกันมากมาย เลยสั่งกับข้าวประมาณสี่อย่าง เป็นแนวอาหารจีนเช่นปลาทอด, ผัดผัก ทานอาหารเสร็จเดินช็อปปิ้งหาของฝากแปลกๆ ได้โสร่งสไตล์พม่า มาสองผืน ผืนละ 100 Kyt และไม่ลืมมีของติดมือมาฝากแม่บ้านชาวพม่าที่บ้านเป็นผงทนาคาราคา 500 Kyt คุณแม่ผมหาดูเครื่องประดับ ที่ชอบแต่ก็ไม่ถูกใจเลยไม่ได้ซื้ออะไร สุดท้ายไม่รู้จะซื้ออะไรที่เป็นแนวพม่าเป็นของฝาก เลยจบที่ ชา 3 in 1 พม่า ถุงละ 500 Kyt ซื้อมา 5 ถุง เป็นของฝากเลย เราออกจากตลาดสก็อตประมาณ 17.00 น.
<<ซ้ายบนรถติดหน้าตลาดสก็อต, ขวาบนร้านอาหารที่เราไปทานมื้อเที่ยง, ซ้ายล่างด้านหน้าป้ายชื่อตลาด, ขวาล่างภายในตลาด>>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 17.30 น. กลับมาสักการะชเวดากอง
พวกเรานั่งแท็กซี่จากตลาดสก็อตกลับมาถึงชเวดากอง ค่าแท็กซี่เท่าขาไปคือ 2,500 Kyt พอมาถึงคราวนี้แท็กซี่ไปส่งอีกประตูนึง พวกเราเลยต้องเตือนตัวเองตลอดเวลาว่า กระเป๋าอยู่อีกประตูนึง และต้องไปถึงสนามบินเวลา 20.00 น. เลยกำหนดเวลาหนึ่งชั่วโมงในการสักการะเจดีย์ชเวดากอง พวกเราแยกย้ายเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตา แล้วขึ้นลิฟท์ไปชั้นสองเพื่อเดินเข้าสู่พื้นที่เจดีย์ น้องสาวผมเตรียมบทสวดสักการะเจดีย์มาด้วย และอธิบายทุกคนว่า ควรไปสวดบทสวดนี้ที่ซุ้มประจำวันเกิดของแต่ละคน โดยการสวดต้องตักน้ำรดรูปปั้นนักษัตรประจำวันเกิดไปด้วย และวันเกิดของแต่ละคนก็มีจำนวนการสวดที่ไม่เท่ากัน ซึ่งซุ้มประจำวันเกิดก็ตั้งอยู่โดยรอบเจดีย์ พวกเราก็เริ่มทยอยสวดทีละคน จนครบและถ่ายรูปกันจนพอใจ ประมาณ 18.00 น. พวกเราทำกิจกรรมที่ ชเวดากอง ครบตามที่ตั้งใจก็หาทางลงมาที่ประตูที่เราฝากของไว้ อันนี้ ก็เดินกันเมื่อยหน่อยครับ เพราะชเวดากองกว้างมาก เดินผิดเดินถูก กว่าจะมาถึงประตูที่ฝากของก็เกือบยี่สิบนาที ต้องเร่งหน่อยแล้ว ...
<<ซ้ายบนชเวดากองมุมแรกที่เห็น, ขวาบนเทวดาประจำวันเกิด, ซ้ายล่าง อาคารโดยรอบเจดีย์, ขวาล่าง เจดีย์ตอนต้องแสงพระอาทิตย์ตกดิน>>
28 ก.ย. 57 (วันที่ 3) 18.45 น. ลุ้นไม่ทันเครื่องบิน รถติดหนักมาก
พวกเราได้กระเป๋าก็รีบออกจากประตูเจดีย์ เพื่อมาเรียกแท็กซี่ ตอนนี้ข้างนอกมืดตือเลยครับ โชคดีมีรถแท็กซี่มาจอดพอดี โบกเรียกถามราคา 7,000 Kyt เท่าราคามาตรฐานของเราก็โอเค รีบขึ้นเลยครับ แท็กซี่ขับพ้นประตูเจดีย์เท่านั้นแหละ ติดแหงกเลยครับ เหมือนช่วงเลิกงานที่เมืองไทยเลย ติดแบบไม่ขับ สักสิบนาทีถึงเริ่มเคลื่อนไปได้ พวกเราก็ลุ้นกันแทบแย่บอกคนขับ ว่าต้องไปถึงสนามบินสองทุ่มนะ รถก็ค่อยๆ ขับมาเรื่อยๆ ครับ พอพ้นเขต ถนนรอบๆ เจดีย์ ก็วิ่งโล่งเลยครับ เรามาถึงสนามบินเกือบๆ สองทุ่มรีบจ่ายค่าแท็กซี่ขนกระเป๋า เข้าเช็คอินเลย ยังดีที่สนามบินย่างกุ้งเดินไม่ไกลก็ถึงที่เช็คอินแล้ว เช็คอินเสร็จ ยังมีเวลาเหลือ และเงินจ๊าดเหลือ เลยมานั่งที่ร้านอาหารและสั่งอาหาร เลือกสั่งแบบสไตล์พม่า เพราะคิดกันว่ายังไม่ได้ลิ้มลองอาหารพม่าแท้ๆ เลย แต่ปรากฎว่า รสชาดออกแนวอาหารฝรั่งครับ ทานเสร็จพอเช็คบิล อ้าวดันไม่รับเงินจ๊าด ซะอีก รู้งี้ไม่ทานกันดีกว่า สรุปมื้อนี้แพงสุดครับ 21 USD หรือประมาณ 700 บาท แถมยังเหลือเงินพม่าให้ต้องกลับมาเสียเวลาแลกที่เมืองไทยอีก ทานอาหารเสร็จสักพักก็ได้เวลาขึ้นเครื่องครับ แล้วก็ออกเดินทางกลับสู่ประเทศไทย โดยสวัสดิภาพ ได้ทั้งบุญ, ความเหนื่อย, ความสนุก, ได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า, แล้วแถมด้วยประสบการเดินทางที่หลากหลายทั้ง รถไฟพม่า, รถบัสพม่า และรถขนหมู และอยากจะแนะนำว่าถ้าจะให้ดีให้จัดเวลาเพิ่มอีกหนึ่งวันเพื่อจะได้ไม่เหนื่อยเกินไปและมีโอกาสสักการะเจดีย์ชเวดากองและเที่ยวชมย่างกุ้งอย่างสบายๆ ครับ ...ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ
<<ซ้ายบนบนรถแท็กซี่จากชเวดากองไปสนามบิน, ขวาบนบนรถแท็กซี่ขณะรถติด, ซ้ายล่างอาหารที่ร้านที่สนามบิน, ขวาล่างสภาพพวกเราตอนได้ขึ้นเครื่อง>>
*ตัวอย่าง VDO ย่างกุ้ง-คินปุน โดยรถไฟ
VDO2 คินปุน-อินทร์แขวน-คินปุน www.youtube.com/watch?v=T7dDXOMGj1w
VDO3 คินปุน-ย่างกุ้ง-ชเวดากอง-ตลาดสก็อต https://youtu.be/YL9nDaaXe-k
สุดท้ายก่อนจบขอขอบคุณ กระทู้ในพันธ์ทิพย์ และ บล็อกอื่นๆ ที่ให้ข้อมูลอย่างดี รวมทั้งบริษัททัวร์ของเพื่อนผมด้วยครับ
http://www3.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10828148/E10828148.html
http://pantip.com/topic/31162068
http://bigm517.blogspot.com/2014/01/mingalaba-myanmar-2014-kyit-htee-yo-2.html
http://prigsitang.blogspot.com/2014/03/blog-post.html
http://pantip.com/topic/30772052
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=naomichankuro-bara&date=21-05-2007&group=2&gblog=86 http://2myanmar-trip.blogspot.com/2014/06/7.html http://www.weekend-tours.co.th/