https://www.banggood.com/50X-LED-Illumination-Pen-Style-Pocket-Microscope-Magnifying-Glass-with-Reading-Scales-p-1137785.html?p=8Z020971524652016114

ถนน ทางหลวง ทางรถไฟและการพัฒนาที่ดินกับปัญหาน้ำท่วม


Photo from: https://pixabay.com/en/flood-weather-rainy-days-heavy-rain-965092/

25 มกราคม 2550 21:22 น. Manager Online

        เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบัน เมื่อมีฝนตกติดต่อกันไม่เท่าไร หรือเมื่อมีน้ำเหนือหลาก จะเกิดภาวะน้ำท่วมที่อยู่อาศัย หรือเรือกสวนไร่นาในทันที ในหลายจังหวัดมากขึ้น และครอบคลุมพื้นที่ในแต่ละจังหวัดเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องมักมองว่าถนน ทางหลวงหรือทางรถไฟขวาง ทางน้ำไหล จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ทำให้ทุกคนต่างก็มุ่งขุดถนน ทางหลวงหรือทางรถไฟ เพื่อเปิดทางระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหา
     
       ผู้เขียนเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
     
       การพัฒนาที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ที่ขาดแผนพัฒนาในด้านการระบายน้ำที่ถูก ต้อง และไม่มีการควบคุมให้ทำระบบระบายน้ำให้เป็นไปตามที่กำหนดต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา
     
       ตัวอย่างปัญหาและวิธีการแก้ไขที่ผ่านมา
     
       ประมาณ 2 -3 ปีที่ผ่านมา ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดอุดรธานี จนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก ทางการเห็นว่าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตามลำดับ ขวางทางน้ำ จึงเร่งดำเนิน-การขุดทางหลวงช่วงนั้นเพื่อระบายน้ำ
     
       เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการสำรวจถนนและสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำไหล ที่เป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วมแล้วได้รายงานว่า มีถนนหรือทางขวางทางน้ำไหล จำแนกเป็นของกรมทางหลวง 713 แห่ง กรมทางหลวงชนบท 530 แห่ง กรมชลประทาน 195 แห่ง ทางรถไฟ 94 แห่ง และถนนขนาดเล็กในชุมชน 2,398 แห่ง จึงมีการให้ขุดถนน ทางหลวงและทางรถไฟนั้นๆ เพื่อให้เป็นทางระบายน้ำ
     
       ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีข่าวเผยแพร่ทางโทรทัศน์ เสนอข่าวรัฐมนตรีท่านหนึ่งกับคณะ ไปตรวจภาวะน้ำท่วมที่จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้แล้วเห็นกับตาว่า ทางรถไฟขวางทางน้ำไหล จึงมีบัญชาให้ขุดทางรถไฟในช่วงนั้นเป็นการด่วนเพื่อระบายน้ำ
     
       ถนน ทางหลวงและทางรถไฟไม่ใช่เหตุแห่งปัญหา
     
       ในการออกแบบทางนั้น วิศวกรได้เล็งเห็นแล้วว่า เมื่อสร้างทางขึ้นมา คันทางก็จะกลาย เป็นเขื่อนขวางทางน้ำ จึงได้มีการคำนวณหาปริมาณน้ำทางต้นน้ำ (Up Stream) ของทางบริเวณนั้นๆ แล้วทำการเปิดช่องระบายน้ำ (Opening) จนพอเพียง พร้อมกำหนดคันทางเป็นอาคารระบายน้ำ เช่น สะพาน เป็นต้น แทน
     
       ในกรณีที่ทางข้ามแม่น้ำลำคลอง ผู้ออกแบบก็จะกำหนดให้สะพานยาวจนเพียงพอ และให้มีรูปแบบและจำนวนตอม่อที่ไม่ขวางทางน้ำ
     
       ในกรณีที่ทางผ่านที่ที่ไม่มีแม่น้ำลำคลอง ผู้ออกแบบก็จะกำหนดทำอาคารระบายน้ำ เช่น สะพาน เป็นต้น แทนเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นทางระบายน้ำ ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “สะพานบก” หรือ “ท่ออุโมงค์บก”
     
       นอกจากนี้ วิศวกรผู้ออกแบบยังได้กำหนดระดับหลังทางให้พ้นจากระดับน้ำท่วมตามสถิติของระดับน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ด้วย
     
       ทางรถไฟก็หนีไม่พ้นจากหลักการนี้
     
       การออกแบบและก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และทางรถไฟสายใต้คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
     
       เราก่อสร้างทางหลวงและทางรถไฟขวางทางน้ำที่ไหลจากเทือกเขาบรรทัด ที่จะลงสู่ทะเลใช่หรือไม่?
     
       ทำไมในอดีตไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมจนต้องขุดทางหลวงหรือทางรถไฟเช่นปัจจุบัน?
     
       การพัฒนาที่ดินคือต้นตอของปัญหา
     
       อาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและทางสัญจรไปมา ที่ขาดการคำนึงถึงระบบการระบายน้ำที่ดี คือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะท่วมเมื่อฝนตกดังนี้
     
       การปิดทางน้ำไหล
     
       โดยหลักการ น้ำจะไหลผ่านถนนหรือทางใน 2 ทิศทาง ในแนวตั้งฉากกับถนน และในแนว 2 ข้างถนน ซึ่งมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการไหลของน้ำที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมดังนี้
     
       1. การไหลในแนวตั้งฉากกับถนน (Cross Drain)
     
       บ้านเรามักก่อสร้างที่อยู่อาศัย หรืออาคารพาณิชย์ หรือตึกแถวเกาะติด 2 ข้างทางในขณะที่ที่ดินบริเวณ “เหนือ” และ “ท้าย” สะพานบกเป็นที่ที่มีโฉนด ดังนั้นจึงเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่เจ้าของที่จะถมที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านเรือน หรือตึกแถว หรือเรือกสวนไร่นา
     
       นั่นคือ
     
       ไม่ว่าจะถมที่ฝั่ง “เหนือ” หรือ “ท้าย” หรือ “ทั้ง 2 ฝั่ง” ของสะพานบก แม้เพียงแปลงเดียว หรือเป็นตึกแถวเพียงแถวเดียว ที่รองรับน้ำที่บริเวณนั้นๆก็จะหายไปด้วย และตึกแถวนี้ก็จะเป็นตัวการขวางทางน้ำปริมาณมหาศาลจากท้องนา สุดลูกหูลูกตาจาก “ค้นน้ำ” ที่อยู่หลังตึกแถวนั้นๆ สะพานบกที่มีอยู่ก็จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
     
       2. การไหลในแนว 2 ข้างถนน (Longitudinal Drain)
     
       เมื่อตึกแถวขวางทางน้ำ น้ำส่วนที่อยู่นอกเมืองก็จะไหลข้ามถนน ส่วนที่อยู่ในเมืองก็จะไหลไปตามคูหรือคลอง 2 ข้างทาง ที่เป็นช่องว่างระหว่างคันทางกับเขตทางหลวง เพื่อไหลสู่ “ท้ายน้ำ” (Down Stream) ตามธรรมชาติ ซึ่งหากเป็นทางหลวงหรือทางรถไฟมักจะมีเขตทาง 30-100 เมตร คูหรือคลองก็จะกว้างใหญ่ จึงไม่มีปัญหาในด้านการระบายน้ำ
     
       แต่เมื่อมีการขยายคันทางเต็มรูปแบบ(Ultimate Design) คือมีทางเท้าและท่อระบายน้ำ 2 ข้างทางก็จะเกิดเงื่อนไขในเรื่องการระบายน้ำในทันที คือจะขึ้นอยู่กับขนาดของท่อที่ใช้
     
       โดยในปัจจุบันกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทใช้ท่อเหลี่ยมใหญ่สุดขนาด 1.20 x 1.20 เมตร เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนตำบลก็จะใช้เพียงท่อกลมที่มีขนาดเล็กลงไปอีก
     
       ในขณะที่มีปัญหาเรื่องการขุดลอกท่อระบายน้ำและขยะอุดตัน ปัญหาเรื่องการควบคุมการทำทางเชื่อมถนนหรือทางหลวงให้ถูกต้องตามกติกา ทำให้ประสิทธิภาพของการระบายน้ำในบริเวณนั้นๆด้อยลง ทำให้บางแห่งถนนกลายเป็นประหนึ่งคลองระบายน้ำ
     
       ระดับการถมที่และระดับหลังทาง
     
       ปัจจุบันไม่มีการควบคุมระดับการถมที่บริเวณ 2 ข้างถนนหรือทาง ทำให้ทุกคนต่างก็ถมที่ให้สูงกว่าหลังทาง เพื่อหนีภาวะน้ำท่วม ผู้มาถมที่ทีหลังมักจะถมที่ให้สูงกว่าที่เดิม บางแห่งก็ถมให้สูงเข้าไว้ ทั้งๆที่โดยสิ่งแวดล้อมแล้ว ไม่มีทางที่น้ำจะท่วม
     
       เมื่อทำการถมที่มากรายทั้ง 2 ข้างทาง ถนนก็จะกลายเป็น “คลอง” เมื่อมีการบูรณะหรือขยายผิวทางจราจร มักจะมีการยกระดับหลังทาง ให้เสมอระดับที่ดิน 2 ข้างทาง หลังจากนั้น ผู้มาใหม่ก็จะถมที่ให้สูงขึ้นไปอีก ในอนาคตก็ต้องมีการยกระดับหลังทางอีก เป็นวัฏจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุด
     
       ปัญหาที่ตามมาคือชาวบ้านต้องยกบ้านขึ้นตามระดับหลังทาง บางหลังต้องยกสูงถึงครึ่งห้อง ที่มีฐานะก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ที่ทำไม่ได้ก็ต้องทนอยู่กับบ้านที่มีระดับต่ำกว่าหลังทางต้องผจญกับปัญหาการระบายน้ำเสียออกจากบ้านและปัญหาภาวะน้ำท่วมบ้าน เมื่อฝนตก
     
       เป็นความผิดของเขาเหล่านั้นหรือที่ต้องมาผจญปัญหาเช่นนี้
     
       ท่อระระบายน้ำของถนนและท่อประปาก็จะอยู่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ก็ต้องรื้อทำใหม่ ในขณะที่งบประมาณมีจำกัด จึงต้องทยอยยกระดับหลังทางและท่อระบายน้ำเป็นช่วงๆ ยกตัวอย่างในซอยต่างๆของกรุงเทพมหานคร ทำให้ประสิทธิภาพของการระบายน้ำด้อยลง
     
       การพัฒนาที่ดิน
     
       การพัฒนาที่ดินเพื่อทำบ้านจัดสรร หรือที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกินในปัจจุบันก็คือ การทำให้ที่รองรับน้ำตามธรรมชาติหายไป ประกอบกับการไม่ระมัดระวังในเรื่องระบบระบายน้ำ การออกแบบระบบระบายน้ำที่ไม่พอเพียง หรือการไม่ควบคุมดูแลให้ทำระบบระบายน้ำให้เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ อีกทั้งปัญหาการรุกล้ำคู คลอง และลำรางสาธารณะ ปัญหาวัชพืช เช่น ผักตบชวาขวางทางน้ำ และปัญหาแม่น้ำลำคลองและลำรางสาธารณะตื้นเขิน
     
       นี่คือเหตุอันสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมเมื่อฝนตก
     
       การแก้ไขปัญหา
     
       1. กรณีสะพานบก
     
       ควรมีการป้องกันไม่ให้ถมที่ที่มีโฉนด ที่บริเวณ “เหนือ” และ “ท้าย” สะพานบก เพื่อเปิดให้เป็นทางระบายน้ำที่เป็นโครงข่ายต่อเนื่องจนถึงแม่น้ำลำคลองและลำรางสาธารณะ ด้วยการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ ทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ
     
       การดำเนินการดังกล่าวอาจทำได้โดยวิธีการใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
     
       ขอความร่วมมือจากเจ้าของที่นั้นๆ
     
       หรือออกกฎหมาย “รอนสิทธิ์” เช่นเดียวกันกับกรณีของเสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
     
       หรือออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน
     
       2. กรณีการระบายน้ำ 2 ข้างทาง
     
       การไม่ระวังในเรื่องนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ตัวอย่างปัญหาของเรื่องนี้คือ
       ขณะนี้กรมทางหลวงชนบทกำลังขยาย “ถนนวัดศรีวารีน้อย” ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนบางนา - ตราด) - ถนนอ่อนนุช ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร โดยที่ทางหลวงสายนี้มีเขตทางจากศูนย์กลางข้างละ 15 เมตร เดิมเป็นถนน 2 ช่องจราจรและอาศัยที่ว่างระหว่างคันทางกับเขตทางเป็นคูหรือคลองระบายน้ำ ซึ่งการขยายทางทั้งช่วงนี้เป็นการขยายเต็มเขตทาง (Ultimate Design)เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร มีทางเท้าและท่อระบายน้ำทั้ง 2 ข้างทางขนาด 1.20 x 1.00 เมตร โดยมีคลองขนาดใหญ่ 3 คลองรองรับน้ำจากช่วงกลางของถนนสายนี้
     
       แต่ช่วงปลายของโครงการนี้ไปเชื่อมกับถนนซอยของถนนอ่อนนุช ซึ่งเป็นของกทม.และกว้างประมาณ 10 เมตรเท่านั้น ระยะทางประมาณ 300 เมตร โดยที่ซอยช่วงนี้ไม่มีระบบระบายน้ำรองรับระบบระบายน้ำของทางหลวงชนบทสายนี้แต่อย่างใด
     
       นั่นคือ
     
       ระบบระบายน้ำที่บริเวณนี้ขาดความต่อเนื่อง อันจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมเมื่อมีฝนตก
     
       ดังนั้น สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ การทำผังโครงข่ายการระบายน้ำในแต่ละชุมชน เมื่อระบายสีแล้วสีนั้นๆจะต้องมีความต่อเนื่องจนกระทั่งน้ำนั้นระบายลงสู่แม่น้ำลำคลอง หากพบช่วงใดขาดความต่อเนื่องก็ต้องทำการแก้ไข โดยที่ขนาดของอาคารระบายน้ำของโครงข่ายนั้นๆต้องใหญ่โตพอเพียงด้วย
     
       3. กรณีการถมที่และระดับหลังทาง
     
       ควรกำหนดระดับการถมที่ 2 ข้างทาง ถนน หรือซอยต่างๆ อีกทั้งควรกำหนดระดับหลังทางของถนนหรือทางเป็นการถาวร แล้วควบคุมไม่ให้มีการถมที่สูงเกินกว่าระดับหลังทางหรือถนน ไม่ว่ากรณีใดๆ
     
       4. กรณีการพัฒนาที่ดิน
     
       ควรกำหนดขอบเขตของการพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินของแต่ละชุมชน ตามความเหมาะสม โดยการกำหนดให้ขุดดินจากบริเวณที่กำหนดเท่ากับปริมาตรที่พื้นที่การรองรับน้ำหายไป โดยอาจกำหนดไว้ที่ 4 มุมเมือง
     
       บริเวณที่มีการขุดดินออกไปก็จะกลายเป็นที่รองรับน้ำแทน
     
       ส่วนการพัฒนาที่ดินทำกินเรือกสวนไร่นาก็ควรใช้หลักการเดียวกัน
     
       การดำเนินการทั้ง 2 กรณีนี้ควรให้สัมพันธ์กับการดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้นตามลำดับ
     
       ควรมีการกำหนดโครงข่ายการระบายน้ำ เช่น ควรกำหนดให้มี “คลองเลี่ยงเมือง” ควบคู่กับ “ทางเลี่ยงเมือง” ด้วย และควรมีมาตรการไม่ให้มีการพัฒนาที่ดินแบบเกาะติด 2 ข้างถนนหรือทางหลวง (Ribbon Development) ในขณะที่ทางการจะต้องกำหนดโครงข่ายของถนน (Service Road) ให้เข้าถึงทุกชุมชน
     
       บทสรุป
     
       ภาวะน้ำท่วมเมื่อฝนตกนับวันจะยังความสูญเสียแก่ทรัพย์สินของสาธารณะอย่างกว้างขวาง และเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ บางครั้งถึงกับสูญเสียชีวิต อันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การพัฒนาที่ดินใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาถนนหรือทางหลวงใดๆ ควรพิจารณาในเรื่อง “ระบบระบายน้ำ” ควบคู่กันไปด้วย และควรทำอย่างจริงจัง 
Previous
Next Post »